phone

Home School หรือการสอนลูกเองอยู่กับบ้านโดยไม่ส่งเข้าโรงเรียน เป็นแนวคิดและรูปแบบการศึกษาทางเลือกที่ให้สิทธิพ่อแแม่ จัดการศึกษาให้ลูกได้ด้วยตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

Home School หรือการสอนลูกเองอยู่กับบ้านโดยไม่ส่งเข้าโรงเรียน เป็นแนวคิดและรูปแบบการศึกษาทางเลือกที่ให้สิทธิพ่อแแม่ จัดการศึกษาให้ลูกได้ด้วยตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย


ข้อได้เปรียบของ Home School 
1.พ่อแม่ผู้ปกครองมีเวลาอยู่กับลูกเต็มที่ ความผูกพันอบอุ่นระหว่างพ่อแม่ลูกย่อมแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
2.พ่อแม่ผู้ปกครองมีโอกาสเลือกและปรับแนวทางการจัดหลักสูตร และการสอนให้เหมาะกับแบบแผนชีวิต ความเชื่อตลอดจนความต้องการ และความพร้อมของลูกได้อย่างยืดหยุ่นแทนการส่งลูกไปรับการศึกษาที่บังคับให้ลูกต้องเรียนทุกอย่างเหมือนๆ และพร้อมๆ กับเด็กอื่นๆ ในขณะที่ลูกยังอาจไม่สนใจหรือไม่พร้อมที่จะเรียนเรื่องนั้นๆ
3.เด็กได้รับการปฏิบัติในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจและสิทธิเสรีภาพของตนเอง ไม่มีพ่อแม่คนใดว่าลูกว่าเป็นเด็กเรียนช้าหรือเด็กมีปัญหาเหมือนในโรงเรียน
4.การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ต่อเนื่องตลอดเวลาโดยไม่มีเปิดเทอมหรือปิดเทอมที่ชัดเจน การเรียนรู้อย่างสนุกสนานต่อเนื่องจะค่อยๆ ปลูกฝังจิตวิญญาณ แห่งการเรียนรู้อยู่เสมอเช่นกัน
5. และในชีวิตจริงการเรียนรู้และพัฒนาตนเองก็ไม่มีเปิดเทอมหรือปิดเทอมเช่นกัน การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ลงมือปฏิบัติจริงเป็นได้ง่ายขึ้นในบรรยากาศของครอบครัว ที่สามารถจัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ทั้งในบ้านนอกบ้านได้มากมาย แทนที่จะให้เด็กเรียนแต่จากหนังสือและคำบรรยายเท่านั้น
หัวใจของความสำเร็จของ Home School คือ ความเอาจริงเอาจังและความเอาใจใส่ของพ่อแม่  ที่สำคัญคือความสัมพันธ์ที่อบอุ่นในครอบครัวและสิ่งแวดล้อมในบ้านต้องมีลักษณะกระตุ้นการเรียนรู้ เช่น บ้านต้องเงียบสงบพอที่เด็กจะมีสมาธิในการเรียน หรืออ่านหนังสือ มีหนังสือประเภทต่างๆ ที่หลากหลาย มีสิ่งแวดล้อมที่สร้างความอยากรู้อยากเห็นในเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น
พ่อแม่ต้องมีระเบียบวินัยในตนเอง ยอมปฏิเสธภาระอื่นที่มารบกวนหรือขัดจังหวะการเรียนรู้ของลูก เพื่อให้มีเวลาสอนลูกได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้พ่อแม่ควรขยันหมั่นหาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องที่จะนำมาสอนลูก ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงรอบข้างก็ควรต้องเห็นด้วย และคอยสนับสนุนเป็นกำลังใจ เพื่อที่พ่อแม่จะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวจนท้อแท้ เพราะการทำโฮมสคูลถือเป็นภาระหนักระยะยาว ที่มีอนาคตของลูกเป็นเดิมพัน
ดร.ปกรณ์ สุปินานนท์ อาจารย์ประจำ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ได้กล่าวว่า ปรัชญาการศึกษาแบบ Homeschooling คือ เชื่อว่าไม่มีใครสอนลูกตัวเองได้ดีกว่าพ่อแม่ จึงเป็นที่มาว่าถ้าพ่อแม่สอนลูกของตัวเอง ก็ไม่ต้องส่งลูกเข้าศึกษาในระบบโรงเรียน
นั่นหมายถึง “การศึกษาในระบบโรงเรียน” ขาดความเชื่อมั่นจากผู้ปกครอง ไม่ว่าด้วยเหตุผลกลใดก็ตามแต่ ทำให้พ่อแม่คิดว่าสอนด้วยตัวเองดีกว่าส่งลูกเข้าโรงเรียน แต่อย่างไรก็ตาม ต้องสำรวจความพร้อมของพ่อแม่และลูกก่อนว่าพร้อมที่จะจัดการศึกษาในรูปแบบนี้หรือไม่ คุณต้องตอบคำถามต่าง ๆ เหล่านี้ให้ได้ก่อนว่า
1. การศึกษาที่แท้จริงนั้นคืออะไร (What an education really is ?) 
2. อะไรคือสิ่งที่ลูกๆ ควรได้เรียนรู้บ้าง (What you want your children to learn ?)
3. หน้าที่ของครอบครัวจริงๆ นั้นคืออะไร (How your family functions ?)
4. ลูก ๆ ของเราเรียนรู้ได้อย่างไรบ้าง (How your children learn ?)
เมื่อคุณตอบคำถามใน 4 ข้อดังกล่าวข้างต้น และยังคงยืนยันว่าตัวเองสามารถสอนลูกได้อย่างแน่นอน ก็ต้องมาศึกษารูปแบบวิธีการเรียนรู้ของลูก ๆ คือ
 1) การเรียนแบบ Visual Learner  คือ เรียนรู้ได้ดีด้วยวิธีการดู อ่านและสังเกตด้วยตัวของเขาเอง (visually viewing  read it themselves and look at the pictures watching you do it )
  2) การเรียนแบบ Kinetic Learner  คือ ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดีด้วยวิธีการสัมผัสและทำด้วยตัวของเขาเอง (touching feeling and doing by himself )
  3) การเรียนแบบ Auditory Learner คือ ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดีด้วยวิธีการบันทึก การฟัง (Lecture Listening tapes and learning to song)
ต่อมาเราต้องรับรู้และเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวกับ Home school (Know the laws in your state) เพราะกฎหมายเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญต้องรู้  ซึ่งในแต่ละประเทศมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องแตกต่างกันไป เช่น เรื่องหลักสูตร ตารางเรียน จำนวนวัน รายวิชา และการประเมินผล
และสุดท้ายต้องเลือกหลักสูตรและเริ่มต้นสอน (Choose your curriculum and get started) เพราะหลักสูตรเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการศึกษาแบบ Home school ดังนั้น พ่อแม่ต้องศึกษาการเรียนรู้และประสบการณ์ที่ลูกจะได้รับ โดยพ่อแม่เองต้องรู้ศักยภาพของตัวเองว่าจะสอนลูกในระบบนี้ได้ตลอดรอดฝั่ง
ในประเทศไทยมีไม่ถึง 100 ครอบครัวที่จัดการศึกษาในรูปแบบนี้โดยใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในการออกแบบหลักสูตร โดยจัดใน 4 ลักษณะ คือ
1. ครอบครัวตกลงกับทางโรงเรียนว่าจะจัดการศึกษาร่วมกัน
2. ครอบครัวดำเนินการเองทั้งหมด
3. จัดโดยกลุ่มครอบครัวแบบเครือข่ายประสานงาน หลายครอบครัวจะร่วมมือกันสอน
4. รวมศูนย์ จัดตั้งเป็นศูนย์หรือโรงเรียนขึ้นมา โดยคณะกรรมการเป็นผู้ปกครอง
Homeschooling จึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับครอบครัวที่เชื่อว่า ไม่มีใครสอนลูกตัวเองได้ดีกว่าพ่อแม่
บทความโดย ดร.ปกรณ์ สุปินานนท์
เรียบเรียงโดย www.พัฒนาการเด็ก.com
Scroll